Last updated: 25 ม.ค. 2561 | 22743 จำนวนผู้เข้าชม |
เป็นที่รู้กันมานะครับ ว่าร่างกายของเราประกอบด้วยธาตุหลักๆ อยู่ 4 ธาตุ ประกอบขึ้นมาเป็นร่างกายและระบบการทำงานต่างๆ ก็ต้องอาศัยธาตุ ทั้งดิน น้ำ ลม ไฟ แต่เพราะร่างกายของคนเรามีธาตุเหล่านี้ไม่เท่ากัน ซึ่งเพราะความไม่สมดุลของธาตุในร่างกาย ทำให้ร่างกายมีโรคประจำตัว หรือ มีอาการผิดปรกติที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำ อีกทั้งธาตุเจ้าเรือนยังส่งผลต่อพฤติกรรมและอารมณ์อีกด้วย
โดยปรกติแล้ว ธาตุเจ้าเรือน จะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ธาตุเจ้าเรือนเกิด และ ธาตุเจ้าเรือนปัจจุบันที่ดูจากภายนอก เช่น บุคลิกลักษณะ อุปนิสัย และภาวะด้านสุขภาพกายและใจ
ก่อนที่เราจะมาดูว่าใครมีธาตุชนิดใดในร่างกายเป็นหลัก ลองมาดูว่า แต่ละธาตุนั้น มีลักษณะที่แสดงออกมาทางกายภาพภายนอกอย่างไร โดยข้อมูลที่เรานำมานี้ ต้องขอขอบคุณสำนักงานข้อมูลสมุนไพร จากมหาวิทยาลัยมหิดลด้วย ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลในการครั้งนี้
ธาตุดิน หรือ ปถวีธาตุ เป็นโครงสร้างของร่างกายที่เป็นอวัยวะต่างๆ มีคุณสมบัติ แข็ง อยู่นิ่งคงตัวจำแนกหลักๆ 20 ชนิด เช่น หัวใจ ตับ ปอด ลำไส้ กระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ผม ขน เล็บ ฟัน ตลอดจน อาหารใหม่ อาหารเก่า สมอง
ธาตุน้ำ หรือ อาโปธาตุ คุณสมบัติซึมซาบอ่อนตัว เป็นตัวกลางทำให้สิ่งต่างๆ ไหลเวียนไป จำแนกเป็น 12 ชนิด เลือด หนอง น้ำดี เสลด เหงื่อ มันข้น มันเหลว น้ำตา น้ำมูก น้ำลาย ไขข้อ และ น้ำปัสสาวะ
ธาตุลม หรือ วาโยธาตุ เป็นพลังขับดันภายในระบบร่างกายให้มีการเคลื่อนไหวหมุนเวียน จำแนก 6 ประการ ได้แก่ ลมสำหรับพัดตั้งแต่ปลายเท้าตลอดศีรษะ ลมสำหรับพัดตั้งแต่ศีรษะตลอดปลายเท้า เป็นแรงดันให้เลือดไหลเวียนเป็นปรกติ ลมที่พัดในลำไส้และในกระเพาะ หมายถึงลมและการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร ลมสำหรับพัดอยู่ในท้องแต่นอกลำไส้ หมายถึง อากาศที่แทรกอยู่ในช่องท้อง ลมสำหรับพัดทั่วสรีระกาย หมายถึงระบบประสาทส่วนกลางและอัตโนมัติ ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกไปทั้งทั่วตัว) และ ลมสำหรับหายใจเข้าออก
ธาตุไฟ หรือ เตโชธาตุ หมายถึง พลังงานความร้อนที่สร้างความอบอุ่น ความร้อนและการเผาไหม้ จำแนก 4 ประการ ได้แก่ ไฟสำหรับอุ่นกาย หมายถึงเมตาโบลิซึมในร่างกายและพลังงานในการดำรงชีพ ไฟทำให้ระส่ำระส่าย หมายถึงจิตใจและอารม ไฟสำหรับเผาให้แก่คร่ำคร่า หมายถึงการเสื่อมสลายของเซลล์ในร่างกายไปตามอายุ ไฟสำหรับย่อยอาหาร หมายถึงพลังงานในการย่อยอาหาร
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เรามีธาตุอะไรเป็นหลัก ทางสำนักงานข้อมูลสมุนไพร ได้ออกแบบแบบทดสอบ ธาตุเจ้าเรือน มาให้ประชาชนได้ทำแบบทดสอบนี้
ที่มาของแบบทดสอบ http://www.medplant.mahidol.ac.th/
โดยที่ แต่ละข้อ คนทำแบบทดสอบ จะต้องเลือกตัวเลือก ตั้งแต่ 0- 2
ถ้า 0 คือเราไม่มีอาการแบบนั้นหรือมีลักษณะทางกายภาพแบบนั้น
1 คือมี แต่น้อย
2 คือ มีมากที่สุด
เสร็จแล้ว จึง นำมาบวกกัน อันไหนมากสุด แสดงว่าเรามีธาตุนั้นๆเป็นธาตุเจ้าเรือน ซึ่งชาวธาตุแต่ละคนจะมีลักษณะดังนี้
1. ลักษณะวาตะ : สำหรับคนที่มีธาตุลมในตัวส่วนมาก จะเป็นคนค่อนข้างจะ active อยู่ไม่นิ่ง (แต่ไม่ถึงกับอยู่ไม่สุขนะครับ) คือชอบออกกำลังกาย ทำอะไรรวดเร็ว ช่างพูดช่างจ้อ หลับยาก ฝันบ่อย แต่เพราะทำอะไรเร็ว จึงขาดความรอบคอบ ด้านสุขภาพของชาววาตะนั้น จะมีปัญหาเรื่องการย่อยอาหารที่ไม่ค่อยดี ท้องอืดบ่อย
โภชนาการของชาววาตะ : กินข้าวสุก น้ำตาล น้ำผึ้ง ถ้ารับประทานน้ำมันพืช ควรเป็นน้ำมันงา ผักผลไม้เน้น หวาน เปรี้ยว เช่น กล้วยน้ำว้าสุก มะระกอสุก สับปะรด ทุเรียน เงาะ ลำไย อาหารควรเติมเครื่องเทศให้เผ็ดร้อนบ้าง เพื่อเสริมไฟธาตุ อย่าทานเนื้อสัตว์ที่ย่อยยาก เพราะเป็นคนที่ท้องอืดง่ายอยู่แล้ว อย่าทานของเย็นมาก
2.ลักษณะปิตตะ : ธาตุไฟย่อมแสดงถึงความร้อนในกายและใจ ชาวปิตตะส่วนใหญ่มักจะมีกลิ่นตัวแรง มีรูปร่างน้ำหนักตัวปานกลาง ผิวละเอียด เป็นผื่นแดงง่าย หนังย่น เหงื่อออกง่าย ขี้ร้อน กินจุ เพราะการเผาผลาญในร่างกายสูง หลับง่าย ได้นอนนี้หลับสนิท ใจร้อน หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย ความเครียดสูง
โภชนาการของชาวปิตตะ : ชาวปิตตะ ควรทานอาหารที่ไม่เพิ่มไฟธาตุมากนัก และลดไฟธาตุตัว เช่น รสหวาน ขม ฝาด ผักใบสด ใบเขียว รสฝาด ขม จืด มากๆ จะสามารถจะลดธาตุไฟได้ดี เนื้อสัตว์จำพวกเนื้อแดง อย่ารับประทานมาก เพราะจะส่งผลให้อารมณ์ฉุนเฉียวได้ ควรทานเนื้อขาวเช่นเนื้อไก่หรือเนื้อปลา งดทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมเนย แต่ทานน้ำมันพืชได้ โดยเน้นที่น้ำมันทานตะวัน มะพร้าว และมะกอก
3. ลักษณะของชาวผกะ : ชาวผกะจะเป็นคนที่หนักแน่น และมั่นคง รูปร่างจะใหญ่ มีน้ำหนักตัวมาก ผิวนุ่ม อ้วนง่าย ต้องคอยหมั่นออกกำลังกายเสมอ ความหิวคงที่ ขับถ่ายปรกติ นอนหลับลึกและสนิท ตื่นสาย เรียนรู้ช้าความจำดี รักความสงบ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง
โภชนาการของชาวผกะ : ชาวผกะ ถ้าคิดจะรับประทานอาหารเพื่อคุมธาตุดินและน้ำลงได้ ต้องเน้นรสเผ็ดร้อน ขม และ ฝาด จึงต้องทานแป้งให้น้อยลง ลดนมกับเนย กินผักใบเขียวและผักเผ็ดร้อนให้มาก ส่วนผักเปรี้ยว หวาน และพืชกินหัว อย่ารับประทานมาก
จาก 3 ลักษณะที่กล่าวไว้แต่ต้นนั้น ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะ มีธาตุชนิดนั้นๆอยู่กับตัว อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่บางคนอาจมีลักษณะของธาตุอย่างอื่นปนมาด้วย แยกย่อยกันไปอีก เช่น ชาววาตะ – ปิตตะ, ชาวปิตตะ – ผกะ, ชาวาตะ – ผกะ เป็นต้น
ภูมิปัญญาของคนโบราณนั้น นับว่าล้ำลึกและเต็มไปด้วยสติปัญญาที่น่ายกย่องมากๆเลยนะคะ และนับว่าดีมากๆ ที่คุณรุ่นใหม่ ไม่ดูแคลน ไม่ทอดทิ้งสิ่งที่คนโบราณมอบให้เรามา เพราะฉะนั้น หากเรานำมาประยุกใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเราได้ ถือว่าดีมากๆเลยค่ะ
18 มี.ค. 2567
9 ก.ค. 2567